วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2555

ความหมายของการศึกษา

ความหมายของการศึกษา
ความหมายและขอบเขตของการศึกษา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับความหมายของการศึกษา เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๒๐ ไว้ดังนี้
"การศึกษาเป็นเครื่องมืออันสำคัญในการพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ ทัศนคติ ค่านิยม และคุณธรรมของบุคคล เพื่อให้เป็นพลเมืองดีมีคุณภาพและประสิทธิภาพ การพัฒนาประเทศก็ย่อมทำได้สะดวกราบรื่น ได้ผลที่แน่นอนและรวดเร็ว"
จะเห็นว่าการศึกษามีความหมายใน ๒ มิติ คือมิติแรกเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องต่างๆ และมิติที่สองเป็นการพัฒนาบุคคลผู้ศึกษาเองให้มีความคิด ความประพฤติ ทัศนคติ ค่านิยม และคุณธรรม ซึ่งทั้งสองมิติแห่งความหมายนี้แยกกันไม่ได้ ตรงกันข้ามจะต้องควบคู่กันไปเพราะเมื่อบุคคลหนึ่งมีความรู้ แต่มีความประพฤติ ทัศนคติ ค่านิยมและคุณธรรม ที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ย่อมจะนำไปสู่การใช้ความรู้ในทางที่ไม่ก่อประโยชน์ต่อทั้งตนเองและส่วนรวมได้ ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่งในเรื่องนี้มีความหมายตอนหนึ่งว่า
"ความรู้กับดวงประทีปเปรียบกันได้หลายทาง ดวงประทีปเป็นไฟที่ส่องแสงเพื่อนำทางไป ถ้าใช้ไฟนี้ส่องไปในทางที่ถูก ก็จะไปถึงจุดหมายปลายทางได้โดยสะดวกเรียบร้อย แต่ถ้าไม่ระวังไฟนั้น อาจเผาผลาญให้บ้านช่องพินาศลงได้ ความรู้เป็นแสงสว่างที่จะนำเราไปสู่ความเจริญ ถ้าไม่ระมัดระวังในการใช้ความรู้ก็จะเป็นอันตรายเช่นเดียวกัน จะทำลายเผาผลาญบ้านเมืองให้ล่มจมได้" (๒๘ มกราคม ๒๕๐๕)
การศึกษาในความหมายนี้สะท้อนให้เห็นว่า การศึกษาไม่ใช่สิ่งที่จบหรือสิ้นสุดในตัวเอง แต่การศึกษาจะต้องนำไปสนองต่อเป้าหมาย หรือจุดมุ่งหมายบางประการ โดยเฉพาะต่อสังคมส่วนรวม (ซึ่งจะได้กล่าวในหัวข้อต่อไป) นั่นหมายความว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือที่จะช่วยนำพาให้บุคคลและสังคมไปสู่จุดมุ่งหมายที่พึงประสงค์ได้ การศึกษาที่สมบูรณ์จะต้องรวมไปถึงการใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมได้จึงจะถือได้ว่าเป็นการศึกษาในความหมายที่ครบถ้วน สมดังที่พระราชกระแสที่ว่า
"การที่มีการศึกษาสมบูรณ์แล้วนี้ ทำให้แต่ละคนหลีกเลี่ยงไม่ได้จากความรับผิดชอบที่จะต้องใช้ความรู้ สติปัญญาของตนให้เป็นประโยชน์และเป็นความเจริญวัฒนาแก่บ้านเมืองและส่วนรวม" (๑๒ กรกฎาคม ๒๕๑๖)
พระองค์ทรงชี้ถึงปรัชญาการศึกษาที่น่าสนใจยิ่งคือ เมื่อบุคคลหนึ่งมีการศึกษาที่สมบูรณ์ ผลแห่งการมีการศึกษาสมบูรณ์นี้จะกำหนดให้บุคคลนั้นมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องใช้ความรู้และสติปัญญาของตนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อบุคคลอื่นและสังคมส่วนรวมโดยไม่ต้องมีบุคคลใดมาร้องขอหรือเรียกร้องให้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อส่วนรวมหรือประเทศชาติแต่การปฏิบัติหน้าที่เพื่อสังคมหรือประเทศชาติของผู้มีการศึกษาที่สมบูรณ์เกิดขึ้นแต่ภายในจากจิตสำนึกแห่งสภาวะของการมีความรู้และสติปัญญาสมบูรณ์ โดยไม่ต้องมีสิ่งจูงใจหรือข้อแลกเปลี่ยน เช่นประโยชน์ส่วนบุคคลหรือรางวัลใดๆมาเป็นแรงผลักดันให้ผู้ที่มีการศึกษาสมบูรณ์ปฏิบัติหน้าที่อันควรจะกระทำ ดังนั้นการศึกษาสมบูรณ์จึงมีความครบถ้วนในตัวเองทั้งองค์ความรู้และการใช้ความรู้เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม ในความหมายเช่นที่กล่าวนี้การศึกษาจึงมีความหมายในเชิงสร้างสรรค์และเป็นผลดีเท่านั้น ถ้าจะกล่าวในเชิงกลับกันอาจกล่าวได้ว่าการศึกษาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ตัวบุคคลหรือส่วนรวมนั้นไม่ใช่การศึกษาที่สมบูรณ์ และการศึกษาที่สมบูรณ์นี้เป็นการศึกษาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมุ่งหวังให้เกิดขึ้นในพสกนิกรและประเทศชาติของพระองค์

<อ่านเพิ่มเต็ม>

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น